ปัญหาของแรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลี


ปัญหาของแรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลีปัญหาแรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการสื่อสารเนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่ ไม่สามารถสื่อสารภาษาเกาหลีได้ดีพอ  ทำให้มีโอกาส ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างได้ง่าย   นอกจากนั้น แรงงานไทยบางส่วนมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสภาพการทำงาน ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แรงงาน EPS หลบหนีนายจ้าง คือ  ปัญหาการทำงาน  โดยไม่สามารถอดทนทำงานประเภท 3D และไม่สามารถย้ายงานได้ เนื่องจากการอนุญาตให้ย้ายงานแก่แรงงานไร้ฝีมือภายใต้ระบบ EPS เป็นสิทธิ์ของนายจ้างฝ่ายเดียว (หากนายจ้างไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแรงงาน) แรงงานส่วนใหญ่จึงหาทางออกด้วยการหลบหนีนายจ้างไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย   นอกจากนั้น  ที่ผ่านมากฎหมายแรงงานเกาหลีใต้กำหนดระยะเวลาการทำสัญญาจ้างไม่เกิน 1 ปี  และสามารถต่อสัญญาจ้างได้คราวละ 1 ปี ทั้งนี้  การต่อสัญญาจ้างขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างมีสิทธิ์เลือกงานและเลือกนายจ้างใหม่ได้ภายหลังครบกำหนดสัญญาจ้าง 1 ปี   แต่นับจากวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้บังคับใช้กฎหมายใหม่ อนุญาตให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติ สามารถทำสัญญาจ้างงานเกิน 1 ปี ได้ แต่ไม่เกิน 3 ปี  ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย
               อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายใหม่ของรัฐบาลเกาหลีใต้ เป็นการแก้กฎหมายตามความต้องการของนายจ้าง   เนื่องจากงานบางประเภท เช่น งานในโรงงานหลอมเหล็ก  งาน recycle พลาสติค    งานในโรงงานที่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง เป็นต้น มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แรงงานที่ไม่สามารถทนสภาพการทำงานได้  จะหลบหนี หรือไม่ต่อสัญญาจ้างเมื่อครบสัญญา 1 ปี ดังนั้นการที่รัฐบาลเกาหลีใต้อนุญาตให้ทำสัญญาจ้างได้ถึงคราวละ 3 ปี  จะเป็นการเพิ่มปัญหาและข้อจำกัดแก่แรงงานต่างชาติ หากแรงงานเหล่านั้นทำสัญญาจ้างงานครั้งแรกระยะเวลา 3 ปี กับสถานประกอบการขนาดเล็กที่กฎหมายยกเว้นการบังคับใช้เกี่ยวกับค่าจ้าง/ค่าล่วงเวลา  หรือสถานประกอบการที่มีสภาพการทำงานเลวร้าย   แรงงานเหล่านี้นอกจากไม่สามารถเปลี่ยนงานหากนายจ้างไม่ยินยอมแล้ว   หากประสงค์จะทำงานต่อในเกาหลีใต้อีกไม่เกิน 2 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด  จะต้องต่อสัญญาจ้างกับนายจ้างรายเดิมเท่านั้น

ปัญหาที่ส่งผลต่อการจ้างแรงงานไทย

-->           1. ความไม่ชัดเจนของสัญญาจ้างงานในระบบ EPS โดยเฉพาะการระบุลักษณะงานและประเภทกิจการของนายจ้างในเกาหลี กว่าร้อยละ 50 ของข้อร้องทุกข์ของคนงานที่สำนักงานแรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลีได้รับจากคนงาน ร้องเรียนว่า นายจ้างให้ทำงานไม่ตรงตามตำแหน่งงานที่ระบุในสัญญาจ้าง นายจ้างให้ทำงานเกินเวลาที่กำหนด เป็นต้น ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบควรดำเนินการให้มีการระบุประเภทกิจการ กำหนดลักษณะการทำงานที่ชัดเจน พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจเบื้องต้นกับคนงานก่อนการจัดส่งไปทำงาน

             2. ปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างคนงานกับนายจ้าง คนงานไทยมีความรู้ ทักษะด้านภาษาเกาหลีน้อยมาก จนแทบสื่อสารข้อความกับนายจ้างไม่ได้ แม้จะมีการทดสอบ และฝึกอบรมด้านภาษาเกาหลีก่อนเดินทางมาทำงานแล้วก็ตาม การจะให้คนงานเรียนรู้ภาษาเกาหลีเพิ่มเติมในช่วงวันหยุดหรือเลิกงาน ทำได้ยาก เนื่องจากคนงาน เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดสัปดาห์ จึงต้องการใช้วันหยุดเพื่อพักผ่อน

            3. นายจ้างที่ประสงค์จะจ้างแรงงานต่างชาติในระบบ EPS ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก   มีทุนประกอบการไม่มาก กิจการอาจยังไม่มั่นคง ทำให้เกิดปัญหาด้านการจ่ายค่าจ้าง การจัดสวัสดิการ หรือหยุดกิจการ ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงควรเจรจากับ HRD ให้มีการตรวจสอบ คัดเลือกนายจ้างก่อนพิจารณาจัดสรรโควต้าให้

            4. งานที่ทำมีความยากลำบากเกินกว่าที่คนงานจะคาดถึง เช่น แบกของหนัก ทำงานกลางแจ้งที่มีอากาศหนาวจัด เป็นต้น ทำให้คนงานเหนื่อยล้า อยากเปลี่ยนงาน และท้อแท้ หากเปลี่ยนงานให้ไม่ได้ คนงานก็จะหนีงานในที่สุด

            5. คนงานเห็นว่า การจัดส่งโดยระบบ EPS เป็นบริการของรัฐ เสียค่าใช้จ่ายน้อย จึงขาดความอดทน ความมุ่งมั่นในการทำงาน เมื่อประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงานก็ถอดใจ ทิ้งงาน ขอเปลี่ยนงาน หรือขอเดินทางกลับ ดังนั้น ในการอบรมคนงานก่อนจัดส่งควรย้ำเตือนเกี่ยวกับความยากลำบากในการทำงาน และเน้นว่าการเปลี่ยนงานเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างเดิม
 
            6. ความเครียดจากสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน ตลอดจนสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของคนงาน ฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เห็นควรจัดหน่วยเคลื่อนที่ไปเยี่ยมคนงานหรือจัดกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายให้แก่คนงานตามความเหมาะสม

ขอบคุณที่ติดตามบล็อก konthai 122
ที่มา : ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล